ของเก่า ก็สวยได้

ครั้งนี้ลองมารื้อของเก่าเหลือใช้ในบ้านมาทำเดคูพาจกันดีกว่าค่ะ

แล้วเราจะทำให้ของเหลือใช้ นำกลับมาใช้ได้ แบบสวยเก๋ด้วยนะ

ชิ้นแรกสำหรับเรา เริ่มต้นด้วยกระป๋องเก่า ๆ ค่ะ

สำหรับกระป๋องใบนี้ เป็นกระดาษนะคะ กระดาษแข็ง ๆ

ขั้นตอนแรกก็ลงสีขาวก่อนเลยค่ะ หากมีฉลากเป็นมันๆ ก็ลอกออกก่อนค่ะ

แล้วพอขาวแล้ว .. ทีนี้ก็บรรเลงกันได้เลยค่ะ ชาวเดคูพาจทั้งหลาย

สำหรับวันนี้ ยุ้ยทำไปด้วย มีนักเรียนตัวน้อยทำไปด้วย

ดังนั้นเทคนิคที่ใช้วันนี้ .. ปลาทูทำได้ เพื่อน ๆ ก็ทำได้นะจ๊ะ

เริ่มจากการใช้แผ่นรองเค้กทำลวดลายกันค่ะ

วิธีการไม่ยากนะคะ ตัดแผ่นรองเค้กตามที่ต้องการแล้วก็ทาบลงไปตรงที่จะทำลาย

แล้วก็ใช้พู่กันสเตนซิล หรือพู่กันปลายตัดธรรมดาก็ได้นะคะ แต้มสีลงไป

เมื่อแต้มสีเสร็จก็ลอกแผ่นรองเค้กออกค่ะ

ง่าย ๆ ใช่ไหมหละคะ  … นี่มาดูหน่วยก้าน ลูกปลาทูตัวน้อยของแม่ยุ้ยซิ

จากนั้นจะติดลาย ก็ลุยเลยค่ะ ยุ้ยใช้กาว PVC นะคะ หรือว่ากาวสูตร 2

แล้วครั้งนี้เราจะลองเพิ่มความน่ารักด้วยเทปลูกไม้ผ้าค่ะ

ซึ่งเทปผ้าลูกไม้ มีแถบกระดาษกาวด้วยนะคะด้านใน แต่ถ้าใครกลัวไม่แน่นพอ ก็เสริมกาวได้

จะลองทาบดูก่อนก็ได้นะคะ ว่า ติดแล้วจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน ก่อนลอกแถบกาวติด

ดูผลงานครูแม่ยุ้ยแล้ว ลองดูผลงานนักเรียนปลาทูกันบ้างค่ะ

กระดาษลายการ์ตูนที่บรรดาลูกค้าส่งมาให้นั่นเองค่ะ

……………………………………………………………….

ลองดูนะคะ .. ของเก่า ไม่ได้ใช้ก็เอากลับมาใช้ได้ ลดโลกร้อนกันแบบเก๋ ๆ เลย

ไว้คราวหน้า ยุ้ยจะเอาอย่างอื่นมาทำให้ดูอีกนะคะ

ไอเดียคือหัวใจสำคัญ

หลายคนมีคำถามมาเสมอว่า “ทำยังไงให้งานออกมาสวย เก๋”

คำตอบคือ .. มีความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

หรือว่า หาไอเดียของเราเอง คิดอะไร อยากทำอะไร ลองเลย

แล้วขอให้เรียนรู้การทำอะไรใหม่ ๆ ลองเอาอันนี้มาต่ออันนั้น

ลองเอาอันนั้นมาติดกับอันนี้ .. ประยุกต์ไปเรื่อย ๆคะ

อย่าไปยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ไม่ใช่ว่าเดคูพาจจะต้องดอกไม้วันยังค่ำ

คำว่าศิลปะไม่มีกรอบตายตัวอยู่แล้ว ดังนั้น เราคิดได้มากมาย

Image

กล่องนี้เกิดจากไอเดียที่อยากทำให้ เหมือนผ้า เลยเอาลายสก็อตมาประกอบ

ออกมาก็สวยถูกใจคนทำ ที่เย็บผ้าไม่เป็น แต่อยากได้งานที่เหมือนผ้าเย็บเอง

Image

เก้าอี้ตัวนี้มีโจทย์ว่า ต้องสีชมพู และลูกต้องชอบด้วย

ทีแรกปลาทูเลือกลายนกฮูก ที่ไม่มีอะไรเป็นสีชมพูเลย จะเอานกฮูกให้ได้

แม่ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนลาย เลือกที่น่ารัก ๆ เหมาะกับเด็ก

และสิ่งที่แม่คิดคือ “ทำไงให้ลูกชอบ”

ลองติดลายแล้วมันก็ยังโล่ง ๆ สองข้าง เลยคิดออกว่า

เราใส่ตัวหนังสือดีกว่า แล้วใส่อะไรลูกจะชอบ

แม่เลยใส่เพลงที่เราร้องด้วยกันตอนเด็ก ๆ ลงไป

ลูกอ่านไม่ออกหรอกค่ะ แต่ตอนนี้ ปลาทูเห็นเก้าอี้ตัวนี้

เธอจะมายืนแล้วก็มอง แล้วก็ร้องเพลงที่เขียนอยู่บนเก้าอี้

ขอย้ำว่า เธอยังอ่านไม่ออก รู้แค่ว่าแม่บอกว่า มันคือเพลงนี้เท่านั้นเอง

Image

กว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวนี้ พ่อนั่งขัดจนหน้ามืดอยู่ครึ่งวัน และทาสีให้

แม่ทำลาย และลูกก็เป็นคนให้โจทย์

เห็นไหมค่ะ ว่า ศิปละสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวได้ด้วย

แล้วลองดูกันซิว่า เก้าอี้ตัวนี้ ใช้อะไรตรงไหนกันบ้าง

Image

ไม่ได้ใช้เทคนิคพิสดารอะไรเลยสักกะนิดเดียวค่ะ

ไอเดียล้วน ๆ แล้วก็ดูแปลกตา แตกแยกออกมาจากลายดอกไม้มากมาย

ลองดูนะคะ .. ไม่ต้องเหมือนใคร แค่ขอเป็นไอเดียของเรา เท่านั้นพ

มารู้จักน้ำยาสำหรับเดคูพาจกัน

ลูกค้ามือใหม่ที่รักทุกท่าน .. วันนี้ เราจะทำให้ท่านเป็นมือเก่าในเร็ววัน

ด้วยการ อ่านและศึกษาด้วยตัวเองไปพร้อม ๆ กัน ตามแนวคิดของแม่ปลาทู

หลายคนสับสน งุนงง ไม่รู้จะเริ่มต้น ยังไง ทำไมมันหลายอย่าง หลายขวด

วันนี้ .. เราจะทำให้ท่านหายงง หายมึน และคุยกับกับเพื่อนได้รู้เรื่อง

……………………………………………………………..

ตามแบบฉบับแม่ปลาทูนะคะ เราไม่เน้นอะไรเยอะ

เราเอาอะไรง่าย ๆ ให้เข้าใจ และเอาพื้นฐานให้แน่นก่อน

แล้วเราจะค่อย ๆ ขยับไปด้วยกัน

ดังนั้น How to จึงแนะนำให้ใช้อะไรเท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

เพราะเข้าใจความรู้สึกของคนเริ่มต้นทำ ว่า มันอะไรกันหนักหนา

ทำความรู้จักไว้นะคะ .. แต่จะใช้อะไร เราเลือกเอาตามความเหมาะสมนะคะ

มาเริ่มต้นกันเลยดีกว่า   หลายคนสงสัยกันมากมายว่า

กาวเดคูพาจ กับ กาวพีวีซี ต่างกันอย่างไร ??

กาวเดคูพาจ หรือกาวสูตร 1 : ใช้สำหรับทำงานสานค่ะ ไม่ว่าจะผักตบชวา ใบลาน กระจูด

จำไว้สั้น ๆ ว่า กาวสูตร 1 หรือว่ากาวเดคูพาจ เอาไว้ทำงานสาน

กาวพีวีซี หรือ กาวสูตร 2 : ใช้สำหรับงานพื้นผิวเรียบ คือ เคสมือถือ กระเป๋าสตางค์พีวีซี

กล่องไม้ งานไม้ งานสังกะสี ถังพลาสติก กระเป๋าเส้นพลาสติกสาน งานเซรามิค

จำสั้น ๆ ว่า ผิวเรียบ ใช้กาวพีวีซีนะคะ

วานิช  หรือหลายคนเรียกน้ำยาเคลือบเงา : ใช้เคลือบได้ทั้งงานสาน งานผิวเรียบ

สรุปคือ งานที่ใช้กาวเดคูพาจติด หรือว่ากาวพีวีซีติด ก็ใช้วานิชตัวนี้เคลือบได้หมดค่ะ

Textile Medium : สำหรับใช้ติดกระดาษ Napkin บนชิ้นงานดิบที่เป็นผ้า ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

กระเป๋าผ้าดิบ เสื้อยืด ซึ่งเตรียมรอดู How to ได้เลยค่ะ เพราะยุ้ยเตรียมกระเป๋าผ้าดิบรอไว้แล้ว

All Purpose Sealer : สำหรับตัวนี้ ใช้สำหรับลงรองพื้นชิ้นงานก่อนทากาวค่ะ ใช้กับชิ้นงานผิวเรียบมัน

เช่นงานสังกะสี งานเซรามิค ถ้าสาว ๆ นึกไม่ออกว่ารองพื้นกันยังไง เพื่ออะไร ลองนึกถึงการแต่งหน้านะ

All purpose sealer ทำหน้าที่เหมือนครีมรองพื้นเวลาสาว ๆ จะแต่งหน้าค่ะ ทาเพื่อให้เครื่องสำอางค์ติดง่าย

ติดทน เรียบเนียน สวยนาน .. ซึ่งเราก็จะทาบนชิ้นงานก่อนน้ำยาอย่างอื่น ๆ เรียกได้ว่าทาเป็นอันดับแรก

แล้วเป่าให้แห้ง แล้วก็จะทาสี ทากาว ก็ว่ากันต่อได้เลย ใน How to ยังไม่ได้สอนให้ใช้นะคะ

เพราะยุ้ยเองยังมองว่า เรามือใหม่ ยังไม่ต้องจัดเต็ม !! เดี๋ยวเป็นมือเก่าแล้วจะสอนให้ จัดเต็มครบสูตรนะ

Resin : เรซิ่น ที่หลายคนถามมา คือ ตัวเคลือบที่จะทำให้ชิ้นงานมีความแวววาว วับวิ้งนะคะ

ซึ่งเรซิ่นไม่ใช่กาวนะคะ  เมื่อทำชิ้นงานเสร็จแล้วเราถึงเทลงไปได้  และวิธีการใช้ก็ไม่ได้เหมือนวานิช

เอาเป็นว่า มันมีเอาไว้ เพิ่มความสวยงาม และเพิ่มความคงทนด้วยค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเห็นการเทเรซิ่น

ลงบนเคสมือถือ ฝากล่องไม้  บนโต๊ะ หรือว่า บนเก้าอี้นะคะ

เมื่อเทเรซิ่นแล้วเคสมือถือจะหน้าตาออกมาแบบนี้ค่ะ

สำหรับใครที่สนใจวิธีการเทเรซิ่นบนเคสมือถือ อดใจรออีกนิดนึงนะ ได้อ่านแน่เร็ว ๆ นี้

………………………………………………………………………

สำหรับตอนนี้น่าจะตอบคำถามของหลาย ๆท่านได้นะคะ

แล้วเราเตรียมพบกันใหม่ กับตอนหน้า เรื่องการเทเรซิ่นบนเคสมือถือนะคะ

วิธีทำเคสมือถือเดคูพาจ สำหรับมือใหม่

หลายคนถามถึงวิธีการทำเคสมือถือมามากมายเลย

เลยได้มีโอกาสได้ทำ How to สำหรับการทำเคสไอโฟนขึ้นมาให้ดูกันนะคะ

แต่ต้องขออธิบายก่อนว่า อันนี้เป็นวิธีที่ประยุกต์สำหรับมือใหม่

ด้วยแนวคิดที่ว่า เดคูพาจ ไม่ยากอย่างที่คิด

ทางร้านเลยพยายามหาวิธีการที่ทำให้มือใหม่ เริ่มต้นได้ไม่ยาก และได้งานที่นำไปใช้ได้จริง

วิธีการและขั้นตอนนี้ เหมาะสำหรับคนไม่เคยทำมาเลยนะคะ

มิได้มีเทคนิคล้ำ .. และวิธีการที่จะทำให้เนี๊ยบเรียบเนียน

เพราะการทำเดคูพาจคือการใช้ทักษะคะ ต้องฝึก ต้องทำบ่อย แล้วคุณจะค้นพบเทคนิคต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง

แต่หลายคนก็อาจจะเห็นเทคนิค จากใน How to ครั้งนี้ก็ได้  ^ ^

เริ่มต้นจากการเลือกลายนะคะ .. ไม่มีคำแนะนำพิเศษ นอกจาก

ชอบลายไหน เลือกลายนั้นค่ะ

เลือกลายได้แล้วก็เตรียมอุปกรณ์กันค่ะ

สำหรับการทำเคสมือถือ เราใช้กาว PVC นะคะ

ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ก็เหมือนกันกับการทำงานกระเป๋าเหรียญ แต่จะมีเพิ่มคัตเตอร์ปากกา

และพู่กันปลายแบนเล็ก ๆ  วานิชก็ใช้ขวดเดียวกันได้เลยคะ

วันนี้กระดาษที่เลือกเป็นแบบ 4 ล็อคลายเดียวกันนะคะ ก็กางออกมาค่ะ

แล้วก็ตัดให้เหลือล็อคเดียวตามภาพนะคะ

แล้วจากนั้นก็เริ่มวางลายกันค่ะ ว่าเราต้องการให้เคสออกมาแบบไหน

ลองวางดูค่ะ จะหันทางไหน เอียงมุมไหน ก็ลองออกแบบกันดูเลย

จากนั้นก็ทากาว PVC ให้ทั่วเคสนะคะ ขอย้ำว่า ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ต้องทำให้ทั่วนะคะ

ทาให้ทั่วแล้วเป่าให้แห้ง คำว่าทั่วคือ ตามขอบ ตามมุมทาให้หมด

ถ้าไม่มั่นใจ ทารอบแรกเป่าแห้ง ทาอีกรอบแล้วเป่าแห้ง (สำหรับคนไม่มั่นใจเอาให้ชัวร์)

การทากาวไม่ทั่วจะเกิดอะไรขึ้น ?????

เพื่อแปะกระดาษแล้ว กระดาษจะไม่ติดตรงที่ไม่มีกาว

พอเคลือบวานิช ชีวิตจะมีปัญหาทันทีค่ะ กระดาษจะพองขึ้นมา

และจะนำพาไปสู่การลอกและหลุดของลายได้ค่ะ

ดังนั้น .. ถ้าไม่ทั่ว ถ้าไม่ชัวร์ ทาสองรอบ (ตามนั้น)

ทาตรงขอบที่ลูกศรชี้ด้วยนะคะ สำคัญนักเชียวตรงนี้

ทากาวแล้วเป่าให้แห้งนะคะ แล้วก็ลองทาบกระดาษเตรียมลงมือแปะกันคะ

กะกันให้เหมาะ วางกันให้ถูกใจนะคะ ต่อไปจะเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนนึงนะคะ

คือการแปะลายลงเคส .. หลายคนมือไม้สั่น หายใจไม่ทั่วท้อง

สบาย ๆ คะ แปะไม่ถูกใจ ยังรื้อใหม่ได้นะคะ

เตรียมฟองน้ำและน้ำสะอาดมารอเลยค่ะ

จากนั้นนำกระดาษลาย Napkin ที่ตัดไว้ เอามาลอกออกเตรียมวางทาบครั้งสุดท้ายคะ

สำหรับการวางกระดาษตรงช่องกล้อง ก็ถ้าสามารถเลื่อนลายให้พ้นไป ก็จะไม่ทำให้ลายขาด

เล็งรอบสุดท้าย เอาให้ชัวร์นะ !!!!

ถ้าชัวร์แล้ว ลงมือแปะกันเลยค่ะ

ขั้นตอนนี้เป็นปราการด่านสำคัญสำหรับตัดกำลังใจมือใหม่

แต่ .. ไม่มีอะไร จะเอาชนะความตั้งใจทำของพวกเราชาวปลาทูน้อยได้

เตรียมฟองน้ำแล้วนะคะ ต่อไปคือบีบน้ำออกให้หมาด

คำว่าหมาดแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ  ยุ้ยคิดหาวิธีที่จะบอกจุดนี้อยู่นานมาก

เลยได้ไอเดียว่า แตะฟองน้ำกับน้ำสะอาด แล้วบีบจนไม่มีน้ำหยดลงมาเลยคะ

สำหรับการกดลงบนกระดาษครั้งแรก ต้องหมาดแบบไม่มีน้ำหยดเลยนะ บีบให้ไม่หยด

แล้วเตรียมผ้าสะอาดไว้ใกล้ ๆ สักผืน (คนทำแอบไม่เตรียม เช็ดเสื้อเอา)

วางกระดาษให้ดี จับให้เรียบ มือข้างนึงจับฟองน้ำ อีกข้างนึง ต้องแห้ง เอาไว้จับกระดาษ

อย่าได้เปียกมันสองข้าง .. เพราะมันจะทำให้กระดาษขาดได้คะ

สำหรับยุ้ย .. ยุ้ยเริ่มต้นกดจากตรงกลางเคส แล้วกระจายออกไปด้านข้างและด้านบนและล่าง

ค่อย ๆ กดแล้วยก กดแล้วยก นะคะ อย่าถู อย่าปาด อย่าลาก

ถ้ากดลงไปครั้งแรกแล้วน้ำชุ่มเกินไป ก็เอาฟองน้ำ กดลงที่ผ้าสะอาดที่เตรียมไว้

อิฉันก็แอบกดลงกับเสื้อที่ใส่ ตรงพุงกะทิสองที แล้วกดต่อ

เห็นไหมค่ะว่าตรงที่กดจะแนบลงไป ค่อย ๆ ไล่กดไปอย่างเบามือนะคะ

แล้วตรงไหนกดแล้วยับ ค่อย ๆ ยกกระดาษตรงที่ยังไม่ได้กดลงไปขึ้น แล้วกดใหม่

ค่อย ๆ ไล่ไปใจเย็นๆ  ถ้าไม่อยากให้ยับ โปรดอย่าหายใจแรง (ล้อเล่นคะ)

ค่อย ๆ ไล่ไปจนทั่วนะคะ อย่ากดซ้ำที่เดิมหลายรอบ มันก็จะขาดอีกเช่นกัน

สำหรับคนที่ทำครั้งแรก .. อย่าไปตั้งความหวังว่ามันจะไม่ยับเลยแม้แต่น้อย

เพราะมันคือกระดาษทิชชู่ค่ะ ไม่ใช่กระดาษ A4

การทำครั้งแรก คือว่า เป็นการเริ่มต้น อย่าไปกดดันตัวเองให้หมดสนุกคะ

ยับบ้าง ย่นบ้าง มันคือศิลปะ

กดไปให้ทั่วจนครบนะคะ แล้วก็เป่าให้แห้งก่อนก็ได้ค่ะ แล้วค่อยกดด้านข้าง

**แต่เหลือมุมไว้นะคะ อย่าเพิ่งกด**

กดจนครบแล้วก็ออกมาประมาณนี้ ..

ตอนทำ ทำไปถ่ายรูปไปนะคะ เอียงบ้างเบี้ยวบ้างอย่าได้ถือสา

ติดให้ครบแล้วไล่ดูนะคะ ตรงไหนโป่ง ตรงไหนฟอง กดให้ทั่ว (ย้ำอีกครั้ง)

ต่อไปก็ทำการเก็บมุมคะ เหมือนมุมกล่องที่เคยทำให้ดูไงคะ

พับให้เป็นแบบนี้ แล้วก็ตัดให้แนบชิด สนิทแนบแน่นคะ

ตัดแล้วก็เป็นแบบนี้ค่ะ

เสร็จแล้วก็กดให้เรียบร้อยค่ะ ออกมาแบบนี้เลยค่ะ

ทำหมดทั้ง 4 มุมนะคะ ออกมาเป็นแบบนี้แล้ว (เห็นไหมยุ้ยก็แปะย่น)

ก็มีย่นบ้าง ไม่ย่นบ้างปะปนกันไปค่ะ เดี๋ยวทำไปเรื่อยๆ จะจับทางได้คะ

ทีนี้เราก็เก็บส่วนเกินออกไปค่ะ เอาคัตเตอร์ค่อย ๆ ตัดออกให้แนบชิดของนะคะ

ตอนกดกระดาษ กดตรงมุมที่ยุ้ยทำลูกศรให้ตาทากาวด้วยนะคะ

ตัดหมดแล้วก็หน้าตาแบบนี้ค่ะ เคยมีคนอยากเห็นเคสด้านในของยุ้ยด้วย

นี่ไงค่ะ เคสด้านไหน พลิกคว่ำพลิกหงายถ่ายให้ดูกันหมดเลย

เมื่อไล่เก็บส่วนเกินออก ดูให้ดีนะคะ ส่วนเกินแบบนี้ก็ต้องตัดออกให้หมดนะคะ

เพราะส่วนเกินแบบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดลอกของเคส

จากนั้นก็เตรียมเจาะรูต่าง ๆ ด้วยคัตเตอร์ค่ะ ตัดให้แนบเช่นกัน

เก็บให้หมดนะคะ แล้วลองเอามืดรูดดู อย่าให้มีอะไรสะดุดมือ

เมื่อเก็บหมด ก็เตรียมเคลือบวานิชกันค่ะ

วานิชเทออกมาแต่น้อยนะคะ แล้วก็วานิชของร้านปลาทูน้อย ทาลื่นมือ ไม่เหนียวหนาคะ

(ขอขายของนิดนึงนะตัวเอง)

นี่คือทาแล้วรอบแรกค่ะ ทาบาง ๆ ขอย้ำว่า บาง ๆ ให้ทั่วนะคะ

ตรงช่อง ตรงรูต่าง ๆ ใช้พู่กันปลายแบนไล่ทาให้ทั่วค่ะ

ตรงขอบก็เช่นกันค่ะ ไล่ทาให้หมด ทาบาง ๆ นะคะอย่าให้หนาอยากให้เยิ้มเข้าไปด้านใน

เพราะเดี๋ยวจะทำให้วานิชเกาะหนา จนใส่โทรศัพท์แล้วคับ

หากระหว่างทาวานิช เจอปัญหา กระดาษฟองฟูขึ้นมา

ขอให้รู้ไว้ว่า นั่นเป็นเพราะ เราทากาวไม่ทั่ว กระดาษที่ฟองคือกระดาษที่ไม่ติดกาว

เก็บขอบ รู ด้านหน้าหลังให้ทั่วครบเรียบร้อย

สำหรับเคสที่ทำ ยุ้ยจะเคลือบวานิช 5 รอบค่ะ แต่ละรอบทาบาง ๆให้ทั่ว

ทาแล้วเป่าให้แห้ง แล้วค่อยลงรอบต่อไป

เสร็จสิ้นค่ะ ขึ้นเงาสวยงาม (ริ้วรอยมีให้เห็นเป็นธรรมดา)

มีบางคนบอกว่า เคลือบแล้วไม่เงา อันนี้ยุ้ยก็งงว่าทำไมไม่เงา

แต่ไม่ใช่วานิชร้านเราชัวร์ ถ้าของร้านเราเงาแบบที่เห็นค่ะ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

น่าจะไม่ยากไปสำหรับมือใหม่นะคะ

หากสนใจจะลอง หลังจากเห็นวิธิทำแล้ว เรามีเป็นชุดทำเคสสำหรับมือใหม่

ลองแวะเข้าไปเลือกชมดูคะ

สำหรับเทคนิคต่าง ๆ ให้มือใหม่ทำกันแล้วกลับมาพูดคุยกันนะคะ

แล้วเราจะว่ากันใน วิธีการในลำดับขั้นถัดไปกันในตอนต่อ ๆ ไปค่ะ

กระเป๋าใส่เหรียญแบบง่าย..สำหรับมือใหม่

หลายคนถามหาวิธีการทำกระเป๋าใส่เหรียญกันมานะคะ

ก็จัดไปอย่าให้เสียค่ะ เอาแบบสำหรับมือใหม่ทำได้เป็นงานชิ้นแรก ไว้แจกไว้ใช้อะไรทำนองนั้น

เตรียมอุปกรณ์กันเลยค่ะ ..

อย่างแรกเลย กระเป๋าใส่เหรียญป่านศรนารายณ์ หาซื้อได้ในราคา 30-45 บาทค่ะ แล้วแต่ว่าจะไปสอยมาจากไหน

ต่อมาก็ กาวเดคูพาจ (หรือบางร้านเรียกกาวสูตร 1) คือกาวที่ใช้สำหรับงานสานน่ะคะ

สีขาวเพื่อเอาไว้ทารองพื้น และวานิช แปรงเบอร์ 1 และฟองน้ำ

นอกจากนี้ที่ลืมไม่ได้เลยคือ แก้วใส่น้ำ สำหรับแช่แปรง ผ้าสำหรับไว้เช็ดแปรงระหว่างทำงาน

ภาพนี้ชุดทำงานจริง .. สภาพก็จะมอม ๆ เลอะ ๆ กันไปตามประสาคะ มีถ้วยสำหรับเทกาว สี วานิชด้วยนะ

เมื่ออุปกรณ์พร้อมเราก็ลงมือทำกันเลยค่ะ .. เริ่มจาก ทาสีรองพื้นกระเป๋าด้วยสีขาว รอบแรก

วันนี้เราจะใช้สีเข้ามาทำให้กระเป๋าของเราดูกิ๊บเก๋มากขึ้น ทาที่หูสีฟ้า และขอบบนก็สีฟ้านะคะ

ข้อควรระวังสำหรับการทาสีคือ .. อย่าทาสีให้โดนซิปกระเป๋านะคะ ไม่งั้นกระเป๋าของเราจะรูดไม่ได้

และระยังตรงตัวจับสำหรับรูดซิปอย่าให้โดนสีมันจะไม่งาม ถ้าจะให้ดีเอากระดาษกาวปิดทับไว้ค่ะ

ทาสีขาวให้ทั่วก่อน (ยกเว้นหู) แล้วค่อยทำเส้นคาดสีฟ้านะ เป่าสีขาวให้แห้งก่อนนะคะแล้วค่อยลงคาดสีฟ้านะ

แอบขอยืมพู่กันระบายสีลูกมาใช้ด้วย ทาตรงขอบ ๆ บางคนอาจจะกลัวไม่ตรง กลัวเลอะ กลัวเลย

ท่องไว้นะคะ “มันคือศิลปะ อย่าไปเครียด” จะให้ดีเอากระดาษกาวแปะทำเส้นไว้คะ ทีนี้ไม่เลยแน่

แต่วันนี้ บอกตามตรงว่าทำตอนเย็นแล้ว รีบทำ เลยไม่ได้ประณีตประดิษฐ์ประดอยอะไรมาก

แถมลูกทำการบ้านอยู่ข้าง ๆ ด้วย .. ก็รีบใช้ได้อยู่ ทำให้พอเห็นวิธีการนะคะ จะเอาสวยไว้ไปลองทำกันนะ

สังเกตกันนะคะว่า หูเนี่ยทาทั้งด้านนอกและด้านในนะคะ เพื่อความสวยงาม

ทาแล้วเป่าให้แห้งด้วยไดร์เป่าผมค่ะ .. แล้วก็ทาซ้ำสองรอบ

สีรองพื้นที่ดี ต้องทาแล้วลื่นเรียบ ไม่แข็ง ไม่ข้น ไม่เหนียว .. ลองดูนะคะ ทาไปก็สังเกตกันไปนะคะ

ทาสีเสร็จแล้ว สองรอบ ก็เป็นเยี่ยงนี้ค่ะ .. ทารอบแรก เป่าให้แห้ง ทารอบสองก็เป่าให้แห้งนะคะ เข้ากะสีผ้าม่านเลย

ทาสีเสร็จ ไล่เก็บตัดหนวดให้หมดนะคะ เส้นที่ชี้ ๆ ออกมา ตามไล่ตัดเก็บให้หมด ด้วยกรรไกร

ถ้าหาซื้อไม่ได้ ก็กรรไกรที่มีในบ้านหละค่ะ ตัดให้มันแนบ ๆ เป็นใช้ได้

ต่อมาก็เริ่มมาเตรียมลายกัน วันนี้เราเลือกใช้ลายเรือใบ ที่เหลือจากการทำเคสส่งลูกค้า เศษแน็ปกิ้นก็ว่าได้

ตัดออกมาเลยค่ะ จะเอาตรงไหนยังไง ตัดให้ชิขอบลายนะคะ อันนี้ลายมีแสงเงาสีเทา ๆ ด้วยเลยตัดให้ได้เงาด้วย

ก่อนติด ก็ลองวางทาบหาตำแหน่งเหมาะสมดูก่อน ว่าจะเอาไว้ตรงไหนดีแล้วทากาวตรงที่จะติด แล้วก็เป่าให้แห้ง

ได้ที่หมายแล้วก็ลอกแน็ปกิ้นออก เหลือชั้นบนสุด (ใครงงเรื่องลอกแน็ปกิ้นย้อนไปอ่านตอนเก่านะคะ)

จากนั้นก็ทำการติดลาย เอาฟองน้ำจุ่มน้ำพอหมาด ค่อย ๆ กดไล่แน็ปกิ้นจนทั่ว กดไล่จากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา

หรือว่า จากล่างขั้นบน ซ้ายไปขวา ใครจะถนัดกดตรงกลางออกไปริม ว่ากันไปเลยตามถนัด

ขอแค่ น้ำอย่าเยอะ เพราะมันจะขาด แล้วใช้วิธีกด ไม่ถู ไม่รูด เพราะมันจะขาดเช่นกัน กดแล้วยก กดแล้วยก

เสร็จแล้วเป่าให้แห้งค่ะ .. แล้วเตรียมทาวานิช

สำหรับการทาวานิช ให้ทาบาง ๆ ขอย้ำนะคะว่า บาง ๆ แล้วค่อย ๆ ทา สำหรับเราเราปาดไปทิศทางเดียวกัน

แล้วก็ทาบาง ๆ ครบหมดแล้วก็เป่าให้แห้ง ทำซ้ำ ๆ 3 รอบค่ะ จะสังเกตว่า ชิ้นงานจะค่อย  ๆ ขึ้นเงา

ระหว่างทาวานิชให้สังเกตด้วยนะว่าตรงไหน ทาเยอะเกินไป จะมีวานิชค้างอยู่ตามรูต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ปาดออก

นี่คือการทาเยอะไป และมีฟองอากาศค่ะ สำคัญคือ “บาง ๆ และเบามือ ปาดไปทางเดียวกัน”

และอีกข้อที่ควรระวังคือ เป่าให้แห้งสนิทก่อนนะคะ ก่อนจะลงรอบใหม่

เพียงเท่านี้เองค่ะ ไม่ยากใช่ไหม ? ก็จะมีกระเป๋าใส่เหรียญที่เราทำเองกับมือไว้ใช้หรือว่าไว้เป็นของขวัญแล้วค่ะ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อควรระวังขณะทำคือ ใช้แปรงเสร็จ แช่น้ำไว้นะคะ อย่าปล่อยให้สี วานิช กาว แห้งแข็งติดแปรง

สำหรับท่านไหนสนใจรับข่าวสารความคืบหน้า หรือว่าจะติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็เพียงเข้าไปคลิก Like กันที่

http://www.facebook.com/Decoupage.Art

Previous Older Entries

crack decoupage How to o เดคูพาจ sponging Textile Medium tuna craft กระดาษเดคูพาจ กระเป๋าผ้าดิบ กระเป๋าผ้าเดคูพาจ กระเป๋าพีวีซีเดคูพาจ กระเป๋าเดคูพาจ กระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋าใส่เหรียญป่านศรนารายณ์ กระเป๋าใส่เหรียญเดคูพาจ กล่องไม้ การตกแต่งชิ้่นงานเดคูพาจ การทำเดคูพาจบนชิ้นงานสีเข้ม การเทเรซิ่นบนเคสมือถือ กาวพีวีซี กาวเดคูพาจ ของขวัญปีใหม่ ขั้นตอนการทำเคดูพาจ ขั้นตอนการทำเดคูพาจ ขั้นตอนทำเดคูพาจ งานดิบเดคูพาจ งานเดคูพาจ งานไม้ ชิ้นงานดิบ ชิ้นงานดิบเดคูพาจ ชุดฝึกทำเดคูพาจ ชุดหัดทำเดคูพาจ ชุดเริ่มต้นทำเดคูพาจ ตัวปั๊มนำเข้าจากเกาหลี ถาดไม้สเตนซิล ทำเคดูพาจ น้ำยาเดคูพาจ บล็อคลาย วานิช วิธีการทำกระเป๋าใส่เหรียญ วิธีการทำเดคูพาจ วิธีการทำเดคูพาจบนเซรามิค วิธีการเทเรซิ่น วิธีทำสำหรับมือใหม่ วิธีทำเดคูพาจ สร้างพื้นผิวด้วยฟองน้ำ สอนการทำเดคูพาจ สอนทำเดคูพาจ สเตนซิลงานไม้ หนังสือวิธีทำเดคูพาจ หนังสือสอนทำเดคูพาจ หนังสือหัดทำเดคูพาจ หนังสือเดคูพาจ หนังสือเดคูพาจเก๋ไก๋ หัดทำเดคูพาจ อุปกรณ์ทำเดคูพาจ เก้าอี้เดคูพาจ เคสมือถือเดคูพาจ เคสมือถือเรซิ่น เดคูพาจ เดคูพาจกระเป๋าพีวีซี เดคูพาจกล่องไม้ เดคูพาจงานไม้ เดคูพาจบนงานไม้ เดคูพาจบนผ้า เดคูพาจบนเซรามิค เดคูพาจบนไม้ เดคูพาจเคสมือถือ เดโคพาจ เทคนิคการทำพื้นผิวเดคูพาจบนงานไม้ เทคนิคบล็อคลาย เทคนิคบล็อคสี เทเรซิ่น เรซิ่นเคสมือถือ แน็ปกิ้น ไอเดียของขวัญปีใหม่